Feasibility Study คืออะไร ทำไมถึงจำเป็นกับการเริ่มธุรกิจ
ในการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ การวางแผนอย่างรอบคอบและมีการเตรียมความพร้อมที่ดีเป็นสิ่งสำคัญซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสความสำเร็จ และหนึ่งในขั้นตอนที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง คือ การศึกษาความเป็นไปได้ของธุรกิจ (Feasibility Study) ซึ่งทำให้องค์กรสามารถเข้าใจความสำเร็จและอุปสรรคของโครงการได้อย่างครอบคลุม ลดโอกาสในการเกิดปัญหาที่ไม่คาดคิด
Feasibility Study คืออะไร
Feasibility Study หรือการศึกษาความเป็นไปได้ของธุรกิจ คือ การประเมินความเป็นไปได้ของแผนงานหรือโครงการ มุ่งเน้นการวิเคราะห์พิจารณาว่าโครงการหรือกิจการนั้น ๆ มีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จหรือไม่ ตลอดจนการระบุปัญหาที่อาจเกิดขึ้นขณะดำเนินโครงการ
Feasibility Study ทั้ง 5 ด้าน
การศึกษาความเป็นไปได้ของธุรกิจ ประกอบด้วย
- Market Feasibility – ความเป็นไปได้ด้านการตลาด คือ การวิเคราะห์ความต้องการของตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์หรือบริการของโครงการ ประเมินสภาพการแข่งขันในตลาด ความท้าทาย และโอกาส
- Production Feasibility – ความเป็นไปได้ด้านผลิตภัณฑ์/บริการ คือ การประเมินว่าผลิตภัณฑ์/บริการสามารถดำเนินการได้จริงหรือไม่ มีเทคโนโลยี อุปกรณ์ที่จำเป็น ทรัพยากร เช่น วัสดุและกำลังคน เพียงพอสำหรับรองรับการผลิต รวมทั้งประสิทธิภาพของกระบวนการผลิตสามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาดได้
- Law & Regulation Feasibility – ความเป็นไปได้ด้านกฎหมาย/ระเบียบข้อบังคับ คือ การตรวจสอบว่าโครงการดำเนินงานตามข้อกำหนดทางกฎหมายและระเบียบข้อบังคับหรือไม่ มีกฎหมายใดเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานหรือไม่
- Business Model Feasibility – ความเป็นไปได้ด้านรูปแบบธุรกิจ คือ การวิเคราะห์ว่ารูปแบบของธุรกิจสามารถทำกำไรได้อย่างเหมาะสมยั่งยืน สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและความสามารถขององค์กรหรือไม่
- Financial Feasibility – ความเป็นไปได้ด้านทางด้านการเงิน คือ การประมาณต้นทุนในการดำเนินงานตั้งแต่เริ่มต้นโครงการจนสิ้นสุด วิเคราะห์ผลประโยชน์ รายได้และค่าใช้จ่ายเพื่อให้แน่ใจว่าโครงการมีความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ
Feasibility Study ต้องวิเคราะห์อะไรบ้าง
เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของธุรกิจ ต้องดำเนินการวิเคราะห์ประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
- ความเสี่ยง เป็นการระบุ ประเมิน และจัดลำดับความสำคัญของความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อความสำเร็จของโครงการ ซึ่งช่วยทำให้เข้าใจความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างครอบคลุม และเป็นผลให้สามารถตัดสินใจอย่างเป็นเหตุเป็นผลภายใต้ข้อมูลว่าจะดำเนินการกับโครงการต่อไปหรือไม่
- คู่แข่ง เป็นการระบุคู่แข่งโดยตรงและโดยอ้อมในตลาด เพื่อประเมินส่วนแบ่งการตลาดและทำความเข้าใจความเข้มข้นในการแข่งขัน ตลอดจนการศึกษารูปแบบธุรกิจและกลยุทธ์ที่คู่แข่งใช้ รวมถึงการกำหนดราคา การตลาด การจัดจำหน่าย และการบริการลูกค้า
- SWOT เป็นการวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรคเพื่อทำความเข้าใจรูปแบบธุรกิจ และปรับปรุงแก้ไขจุดอ่อนของผลิตภัณฑ์/บริการ รวมทั้งหาแนวทางในการรับมือกับอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้น
Feasibility Study มีประโยชน์อย่างไร
- ช่วยในการวางแผน ทำให้รับทราบข้อมูลที่จำเป็นในการวางแผนโครงการได้อย่างครอบคลุมทุกแง่มุมและมีข้อมูลครบถ้วนเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจ รับทราบแผนงานโดยละเอียดสำหรับการดำเนินโครงการ ทั้งระยะเวลาดำเนินโครงการ และกำหนดการอื่น ๆ ช่วยให้วางแผนกลยุทธ์ได้ดีขึ้น
- เพิ่มความมั่นใจในการลงทุน ผู้ลงทุนสามารถวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการอย่างละเอียดถี่ถ้วน จึงตัดสินใจได้อย่างมั่นใจและลดโอกาสที่โครงการจะล้มเหลว รวมถึงสามารถเตรียมแผนฉุกเฉินเพื่อแก้ไขสถานการณ์วิกฤตได้อย่างรอบคอบ
- การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยในการจัดลำดับความสำคัญและจัดสรรทรัพยากร การประมาณการต้นทุน การคาดการณ์ทางการเงิน ตลอดจนการวิเคราะห์จุดคุ้มทุนให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
- เพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ทำให้เห็นภาพกระบวนการทำงานได้อย่างชัดเจนซึ่งจะทำให้งานดำเนินด้วยความราบรื่น
- เพิ่มโอกาสในการประสบความสำเร็จ ช่วยให้โครงการมีโอกาสประสบความสำเร็จสูงขึ้นจากการวิเคราะห์และวางแผนอย่างรอบคอบ
Feasibility Study หรือการศึกษาความเป็นไปได้เป็นขั้นตอนสำคัญที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถประเมินความเป็นไปได้ของธุรกิจในทุกมิติ ช่วยให้มั่นใจว่าข้อมูลและรายละเอียดทุกแง่มุมของโครงการจะได้รับการพิจารณา เพิ่มศักยภาพในการรับมือกับอุปสรรคและความท้าทาย จนสามารถสร้างความสำเร็จให้กับธุรกิจได้อย่างแน่นอน