Cost Reduction คืออะไร แตกต่างจาก Cost Saving อย่างไรบ้าง
โลกธุรกิจในยุคปัจจุบันมีอัตราการแข่งขันที่สูง ซึ่งหนึ่งในกลยุทธ์ที่จะช่วยให้องค์กรทุกแห่งมีผลกำไรตามเป้าหมายที่คาดหวัง หรือยังคงมีช่องทางในการเลี้ยงดูองค์กรให้ยังคงเดินหน้าและเติบโตอย่างมีศักยภาพ นั่นคือการหาวิธีลดต้นทุน กลยุทธ์ที่มักถูกพูดถึงเกี่ยวกับการลดต้นทุนคือ Cost Reduction และ Cost Saving คนทำธุรกิจมือใหม่ หรืออยู่ในแวดวงธุรกิจอาจสงสัยถึงความแตกต่าง การเข้าใจอย่างถูกต้องจะช่วยให้สามารถนำไปปรับใช้กับธุรกิจแบบมีประสิทธิภาพ
Cost Reduction คืออะไร
Cost Reduction คือ ลักษณะของการลดต้นทุนระยะยาวของธุรกิจไม่ว่าจะเป็นสินทรัพย์หรือแรงงาน เพื่อสร้างประสิทธิภาพและโอกาสทำกำไรสูงขึ้นกว่าเดิม จุดประสงค์สำคัญเพื่อให้องค์กรสามารถรักษากระแสเงินสดเอาไว้ได้โดยไม่สร้างผลกระทบต่อคุณภาพของงานและผลผลิตที่เกิดขึ้น ตัวอย่างที่เห็นภาพได้ชัดเจนสำหรับวิธีนี้ เช่น การลงทุนกับเครื่องจักรอันทันสมัย การนำเทคโนโลยีรุ่นใหม่เข้ามาใช้งาน ไปจนถึงการพูดคุยเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าด้านผลประโยชน์กับทางซัพพลายเออร์ เป็นต้น หากทำสำเร็จนั่นหมายความว่าในอนาคตคุณจะประหยัดค่าใช้จ่ายด้านตนทุนของบริษัทเพิ่มขึ้นได้อย่างแน่นอน เสมือนการวางแผนแบบระยะยาว และมีการวางลำดับขั้นตอนเอาไว้ชัดเจน
Cost Saving คืออะไร
Cost Saving คือ ลักษณะของการลดต้นทุนทางธุรกิจด้วยวิธีการที่รวดเร็วเพื่อช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นขององค์กรออกในทันที จุดประสงค์สำคัญเพื่อช่วยให้ธุรกิจยังคงถูกบริหารจัดการภายใต้สภาพคล่องทางการเงินอันเหมาะสม รักษาและปรับปรุงกระแสเงินสดเอาไว้ได้ มีเสถียรภาพทางการเงินมากขึ้น แต่เหนือสิ่งอื่นใดต้องไม่กระทบกับการทำงานในแต่ละภาคส่วนขององค์กร ซึ่งการลดต้นทุนด้วยความรวดเร็วแบบนี้มีด้วยกันหลายวิธี เช่น การสั่งปลดพนักงานบางส่วน การเลือกใช้บริการกับซัพพลายเออร์ที่มีราคาถูกกว่า เป็นต้น
ความแตกต่างระหว่าง Cost Reduction VS Cost Saving
หากมองในภาพรวมแล้วอาจเข้าใจว่าทั้งการทำ Cost Reduction กับ Cost Saving ก็คงคล้ายกัน เพราะจุดประสงค์หลักคือต้องการลดต้นทุนให้กับบริษัท อย่างไรก็ตามเมื่อเจาะลึกลงไปแล้วจะพบว่าทั้ง 2 คำเรียกนี้ในเชิงธุรกิจมีความแตกต่างกันอยู่พอสมควร
โดยการทำ Cost Reduction มีเน้นหวังผลแบบระยะยาว มีการวางแผนดำเนินงานแบบรัดกุม รอบคอบ เพื่อให้ในอนาคตธุรกิจสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายลงได้ตามแนวทางที่คาดหวังหรือประเมินเอาไว้ โอกาสได้กำไรสูงขึ้น มีเสถียรภาพทางการเงินชัดเจน
แต่สำหรับการทำ Cost Saving มักเป็นกลยุทธ์ที่ต้องทำแบบปัจจุบันทันด่วนเพื่อให้เห็นผลภายในเวลาอันรวดเร็วมากที่สุด ลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจในด้านบริหารจัดการเงินทุน แต่ทั้งนี้ต้องยังไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของธุรกิจเพื่อให้สามารถเดินหน้าต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การใช้กลยุทธ์ Cost Reduction และ Cost Saving เหมาะกับสถานการณ์ใด
1. Cost Reduction
เป็นกลยุทธ์ที่เหมาะกับการวางแผนเพื่อวิเคราะห์ ปรับปรุงในส่วนของต้นทุนและค่าใช้จ่ายขององค์กรแบบระยยาว เสมือนช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายถาวรให้หายไป หรือบางทีอาจเป็นการปรับปรุง เปลี่ยนแผนทำงานภายใต้จุดประสงค์หลักคือ ธุรกิจต้องเดินหน้าต่ออย่างมีประสิทธิภาพ ใช้ได้กับทุกสถานการณ์ของบริษัท หากต้องการเปลี่ยนแนวทาง หรือนโยบายทางการเงิน หรือประเมินถึงสภาพเศรษฐกิจในอนาคตและเป็นแนวทางสู่ความเป็นเลิศทางการดำเนินงาน (Operation Excellence)
2. Cost Saving
นี่คือกลยุทธ์ที่เหมาะกับการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอันเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ แบบไม่ทันตั้งตัว เช่น สภาพเศรษฐกิจทรุดตัวหนัก เกิดโรคระบาดรุนแรง เพื่อช่วยลดต้นทุนระยะสั้น หรือค่าใช้จ่ายบางประการที่ไม่จำเป็นออกไป เพิ่มความคล่องตัวด้านการเงินกับธุรกิจมากขึ้น มีอัตราการกำไรและเสถียรภาพด้านการเงินดีกว่าช่วงเวลาที่ผ่านมา
การเข้าใจความหมาย ความแตกต่างอันชัดเจนระหว่าง Cost Reduction และ Cost Saving จะช่วยให้ผู้บริหาร หรือฝ่ายที่เกี่ยวข้อง สามารถวางกลยุทธ์ต่าง ๆ ออกมาได้อย่างเหมาะสม ลดความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาเชิงธุรกิจในด้านต้นทุน